คิดถึงคุณตา : (ภาค 32)
- รายละเอียด
- เขียนโดย BCCChannel.net
- เผยแพร่เมื่อ: วันศุกร์, 19 กรกฎาคม 2562 17:01
คิดถึงคุณตา : (ภาค 32)
“ในวันที่ไม่มีคุณตาแล้ว อากู๋สี่ คือ พี่ใหญ่สุดของครอบครัวเรา (เมื่อปี 2552)” คุณพ่อของผม กล่าวกับ “อากู๋สี่” พร้อมด้วยลูก-หลานของคุณตา โดย “อากู๋สี่” ท่านมีศักดิ์เป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณแม่ผมครับ ด้วยรัก เคารพ และนับถือ “อากู๋สี่” เสมอมานะครับผม
ผมยังจำภาพในอดีตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาพที่อากู๋สี่ท่านขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจคันโปรดของท่านแล้วมีคุณตาของผมนั่งซ้อนท้ายไปซื้อของ ไปช่วยงานการกุศล รวมถึงไปในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแถวๆ เยาวราช วงเวียนใหญ่ ท่าดินแดง หรือสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนับเป็นภาพความทรงจำที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง
อีกทั้งเมื่อยิ่งนึกถึงภาพดังกล่าวที่ถูกเก็บไว้อยู่ในความทรงจำ (เมื่อหลายสิบปีก่อน) แล้ว ยิ่งหวนนึกถึงสีสันความสวยงามของภาพที่กำลังทยอยเปิดให้เห็นในความทรงจำได้เป็นอย่างดี ช่างเป็นภาพที่ถูกบันทึกได้สุดคลาสสิก และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก และความผูกพันของครอบครัวของคุณตา ครอบครัวของผม และครอบครัวของอากู๋สี่ครับผม
เราจะสามารถพบและติดต่อคุณตากับอากู๋สี่ได้ที่ศาลเจ้าพ่อกวนอู โดยเฉพาะในช่วงที่ท่านทั้ง 2 เสร็จภารกิจและหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละวัน รวมถึง เราจะได้เห็นความผูกพันระหว่างคุณตา อากู๋สี่ เพื่อนๆ ของคุณตา รวมถึงเพื่อนๆ ของเพื่อนๆ ของคุณตา นั่งจิบน้ำชา พูดคุย รวมถึงร่วมแรงร่วมใจกันช่วยงานของทางศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ร่วมกับคณะลูกศิษย์ฯ ท่านอื่นๆ นับเป็นภาพความทรงจำที่สุดคลาสสิกเป็นอย่างยิ่งเลยครับผม
วันนี้ผมกราบขออนุญาตขอย้อนเล่าถึงเกร็ดประวัติที่น่าจดจำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผมเองเพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้เช่นกันเกี่ยวกับการจัดทำใบเซียมซีของทางศาลเจ้าพ่อกวนอู โดยแรกเริ่มเลยใบเซียมซีของทางศาลเจ้าพ่อกวนอู จะมีแต่เฉพาะภาษาจีนเพียงภาษาเดียวเท่านั้น และจัดทำด้วยไม้สีออกสีชมพูบานเย็นมีขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 6 นิ้ว เป็นบล็อกไม้ เรียงกัน 10 แถว แถวละ 10 เส้น รวมแล้วมีทั้งสิ้น 100 เบอร์ และหลังจากนั้น ใบเซียมซีไม้ดังกล่าวเริ่มเกิดการชำรุด และเสียหายตามกาลเวลา ดังนั้น “อากู๋สี่” เลยกราบขอช่วยเป็นธุระ และช่วยจัดทำใบเซียมซีชุดใหม่ทดแทน
โดยในครั้งนี้ได้จัดทำเป็นแบบกระดาษที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ และได้จัดเพิ่มภาษาไทยเข้ามาเสริมในใบเซียมซีอีก 1 ภาษาครับผม ส่งผลให้ใบเซียมซีที่ใช้อยู่ในศาลเจ้าพ่อกวนอู ในปัจจุบันนี้จึงมีอยู่ด้วยกัน 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย และภาษาจีนครับผม
ทั้งนี้ ในเรื่องความหมายของใบเซียมซีภาษาจีนนั้น “อากู๋สี่” ท่านเป็นคนบริหารจัดการพร้อมกับตรวจเช็คและตรวจสอบอย่างพิถีพิถันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เนื่องจากท่านมีความรู้และเคยเป็นคุณครูสอนภาษาจีนมาก่อน ดังนั้น ในส่วนนี้ท่านจึงให้ความสำคัญ และตรวจสอบความถูกต้องเป็นอย่างดี อีกทั้งท่านยังได้เดินทางไปกราบขอร่วมทำบุญที่ทางศาลเจ้ากวนอู ชั้น 3 สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย เยาวราช สัมพันธวงศ์ และกราบขออนุญาตนำใบเซียมซีของทางศาลเจ้ากวนอู ชั้น 3 สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย เยาวราช สัมพันธวงศ์ มาเป็นต้นแบบภาษาไทยในการดำเนินการจัดพิมพ์ และใช้ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณชุมชนชาวตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้
และได้ให้ทางโรงพิมพ์ไชยยงค์ (กราบขอประทานอภัยถ้าเรียกชื่อโรงพิมพ์ผิด หรือสะกดชื่อโรงพิมพ์ผิด ได้โปรดให้อภัยผมด้วยนะครับผม) อยู่แถวๆ ตลาดท่าดินแดง ใกล้ๆ กับบ้านอาเหล่าเจ็กท่านหนึ่งที่ทำพลาสติก และคนแถวๆ ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา จะรู้จักท่านในนาม “อาเฮียตือพลาสติก” ครับผม เป็นคนช่วยดำเนินการให้ครับผม
“อากู๋สี่” เล่าให้ผมฟังว่าทางโรงพิมพ์ไชยยงค์ เป็นคนช่วยจัดการแกะบล็อก และจัดการให้ทุกอย่างจนแล้วเสร็จเป็นใบเซียมซี และใช้อยู่ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอูขององค์อากงท่านเทพเจ้ากวนอู จนมาถึงทุกวันนี้นะครับผม
นอกจากใบเซียมซีภาษาไทยและภาษาจีนที่ “อากู๋สี่” กราบขออนุญาตช่วยเป็นธุระ และช่วยจัดการให้แล้วนั้น “อากู๋สี่” ยังได้รวบรวมความหมายของใบเซียมซีภาษาจีนของท่านพระโพธิสัตว์กวนอิม (ท่านเจ้าแม่กวนอิม) และท่านพระอริยะสมุทรเทวี (เทียนโหวเซี่ยบ้อ ม่าโจ้ว) “อาหม่าโจ้ว” (ท่านเจ้าแม่ทับทิม) หรือ “ไฮ ตัง ม่า” จัดทำเป็นเล่ม และมอบให้กับทางศาลเจ้าพ่อกวนอู เพื่อใช้ในโอกาสต่อไป โดยหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ผมเองไม่แน่ใจว่ายังอยู่ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู หรือไม่ เนื่องจาก “อากู๋สี่” ได้มอบให้กับทางศาลเจ้าพ่อกวนอู ในช่วงหลายสิบปีก่อนแล้วครับ กราบสาธุ สาธุ สาธุ ด้วยนะครับผม