เสียงสว่างนำทาง : เพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา

เสียงสว่างนำทาง : เพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา

Cr251059

นักศึกษา ปนป. สถาบันพระปกเกล้า น้อมนำแนวทางพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ ๙ ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดึงวิทยากรชั้นนำจากต่างประเทศ สอนเทคนิคการใช้เสียงสะท้อนเพื่อช่วยเหลือคนตาบอด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการรับรู้สภาพแวดล้อม

Cr251059 2

เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กิติยากร ประธานโครงการศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน : เสียงสว่างนำทาง : เพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาและผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า นักศึกษามีความตั้งใจที่น้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๓ องค์ที่ว่า “...การสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม นอกจากตนเองด้วย ยิ่งทำได้กว้างขวางได้เท่าใดก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เพราะประโยชน์ที่ถูกต้องแท้จริงในโลก มีสองประการคู่กันเสมอ คือ ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม คนที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว จัดว่าเป็นคนไม่สามารถแท้ ซึ่งใครๆ ก็ตามจะไม่สรรเสริญ ขอให้พยายามร่วมกันทำตัวทำงานให้ดังที่กล่าว ผลดีที่ทุกคนมุ่งประสงค์ จะเกิดแก่ชาติบ้านเมืองของเราได้มากมายเกินกว่าที่คาดคิด...”

ทั้งนี้ คณะนักศึกษา ปนป. ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกลุ่มจิตอาสา Good Intentions ได้จัดโครงการสร้างศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน หรือเสียงสว่างนำทาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการรับรู้สภาพแวดล้อมด้วยการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตากว่า 500,000 คน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด

Cr251059 3

ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการจะมีการจัดกิจกรรม การสอนการใช้เสียงสะท้อนที่สร้างขึ้นเองจาการขยับลิ้น เพื่อให้รับรู้สิ่งแวดล้อมได้ เรียกว่า Human Echolocation หรือ Click Sonar เหมือนค้างคาว หรือวาฬและโลมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มาสอนคือ Mr. Juan Ruiz และ Mr. Brian Bushway ทั้งคู่เป็น Senior Coach ขององค์กร World access for the Blind ซึ่งเป็นองค์กรสอนคนตาบอดระดับโลก ทั้งนี้การดำเนินการสอนถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยผู้เรียนจะเป็นครูต้นแบบเพื่อต่อยอดและขยายผลแก่นักเรียนคนตาบอด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตาบอดในการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระตลอดชีวิต

ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กล่าวด้วยว่า คณะผู้ดำเนินการมีความหวังว่าโครงการนี้จะสร้างครูไทยที่สามารถถ่ายทอดทักษะต่อให้แก่ครูคนอื่นหรือนักเรียนที่ตาบอดได้อย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มระดับความเชี่ยวชาญจนครูไทยที่เรียนทักษะนี้สามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่นได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาตลอดโครงการประมาณ ๓-๔ ปี

Cr251059 4

ด้าน นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯให้ความช่วยเหลือคนพิการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยมิได้หวังผลตอบแทน ทั้งนี้การตัดสินใจมาทำหน้าที่ในฐานะประธานกรรมมูลนิธิฯ เนื่องจากได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์ที่ว่า “...การสังคมสงเคราะห์นั้น มีความหมายกว้างขวางมาก กินความถึงการดำเนินการทุกอย่างที่จะช่วยเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ หรือกลุ่มชนที่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นชาติ และผู้ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ให้มีความสุข ทั้งทางกายและจิตใจ ให้ได้มีปัจจัยอันจำเป็นแก่การครองชีพ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับการศึกษาอบรมตามควร ตลอดจนมีความรู้ที่จะนำมาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพื่อความเรียบร้อย และความเป็นปึกแผ่นของสังคม...”

Cr251059 5

“จากพระราชดำรัสดังกล่าวคนตาบอด จึงถือเป็นกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญปัญหาในชีวิต และเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกอยู่ในสภาพของผู้ด้อยโอกาสในหลายๆ ด้าน หลายครั้งต้องเป็นภาระพึ่งพิงผู้อื่น ซึ่งหนึ่งในปัญหานั้นคือการทราบสภาพแวดล้อมของตัวเองและการเดินทางไปที่ต่างๆ หากพวกเราสามารถทำให้คนตาบอดมีศักยภาพในการดูแลตนเองได้มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรพัฒนายิ่ง” นายขรรค์ กล่าวเพิ่มเติม

ดังนั้นคณะนักศึกษา ปนป. และกลุ่ม GI จึงตระหนักถึงปัญหานี้ ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา โดยมีจุดประสงค์ให้คนตาบอดได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการรับรู้สภาพแวดล้อมด้วยการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) ซึ่งจะช่วยในการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทำกิจกรรมได้เหมือนอย่างคนปกติทั่วไปมากขึ้น โดยมูลนิธิฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าก้าวแรกของโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่จะเพิ่มแสงสว่างให้ผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน