สถาบันอนาคตไทยศึกษาเผยผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ”

สถาบันอนาคตไทยศึกษาเผยผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ”

ThailandFuture

กรุงเทพฯได้รับการโหวตโดยนักท่องเที่ยวให้เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดของโลก 4 ปีซ้อน แต่กลับถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 102 จาก 140 เมืองทั่วโลก กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ ก็เพราะสารพัดปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของชาวเมือง

ด้วยปัญหารถติด กรุงเทพเป็นเมืองที่รถติดเป็นอันดับ 8 ของโลก แต่การแก้ปัญหาทำแบบแยกส่วน โดยมี 37 หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร และยังใช้เงินลงทุนสูงในระบบขนส่งที่มีคนใช้ไม่มาก อย่างบีอาร์ที หรือแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนเรือ หรือรถตู้ที่มีคนใช้มากกลับไม่ค่อยลงทุน

แต่ก็ไม่เอื้อให้คนเดินเท้า ถ้ารถติดมากก็ควรจะเดิน แต่ทางเท้าในกรุงเทพนั้นเดินลำบากเพราะเต็มไปด้วยแผงลอย ป้ายโฆษณา และปล่อยให้มีรถจักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้าแทนถนน ทั้งๆ ที่เรามีเจ้าหน้าที่เทศกิจ 3,200 นาย มากพอจะกระจายตามพื้นที่ได้ 2 นาย ต่อ 1 ตร.กม.

พื้นที่สาธารณะมีน้อย เหตุผลหนึ่งที่กรุงเทพน่าเที่ยวก็คือมีแหล่งช็อปปิ้งมากมาย แต่กลับขาดพื้นที่ให้คนเมืองได้พักผ่อนนอกบ้าน ที่ไม่ใช่การไปเดินห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะในกทม.มีพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้และใช้ได้จริง เฉลี่ย 2 ตร.ม.ต่อคนเท่านั้น คิดเป็นครึ่งหนึ่งของที่กรุงเทพมหานครประกาศไว้

ปัญหาทั้งหมดนี้ที่ยังแก้ไม่สำเร็จ คงไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องงบประมาณ หรือกำลังคน เพราะกรุงเทพมหานครก็ได้รับงบประมาณปีละ 8 หมื่นล้านบาท มีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 97,000 คน คิดเป็น 2 เท่าของจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของโซล และ 1.5 เท่าของจาการ์ต้าซึ่งทั้งสองเมืองมีประชากรมากกว่าเราด้วยซ้ำ แล้วเราไม่ควรคาดหวังกับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้หรือ?

ที่ผ่านมา ประชาชนให้ความสำคัญกับการเมืองระดับชาติมากกว่า ทั้งๆ ที่รัฐบาลในท้องถิ่นมีผลกับคุณภาพชีวิตประจำวันของเรามากกว่า ดังนั้น เราในฐานะพลเมืองควรร่วมติดตาม ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการเสนอแนะนโยบายต่างๆ ให้เกิดเป็น “วาระกรุงเทพ” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น กรุงเทพมหานครเองก็เป็นเมืองที่พิเศษกว่าเมืองอื่นๆ เป็น 1 ใน 2 เมืองที่เลือกตั้งผู้ว่าของตัวเองได้ มีความอิสระในการบริหารงานมากกว่าองค์การปกครองท้องถิ่นอื่นๆ จึงควรตัวอย่างของมาตรฐานด้านความโปร่งใส และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยิ่งขึ้น