บางจาก คอร์ปอเรชั่น เหล้าเก่าในขวดใหม่ ใส่ใจนวัตกรรมสีเขียว ต่อยอดธุรกิจ ยุค 4.0 (B1264 สกู๊ปพิเศษ มิสเตอร์เฮา 24-30 เม.ย. 2560)
- รายละเอียด
- เขียนโดย BCCChannel.net
- เผยแพร่เมื่อ: วันอังคาร, 25 เมษายน 2560 13:46
บางจาก คอร์ปอเรชั่น เหล้าเก่าในขวดใหม่ ใส่ใจนวัตกรรมสีเขียว ต่อยอดธุรกิจ ยุค 4.0
B1264 สกู๊ปพิเศษ มิสเตอร์เฮา 24-30 เม.ย. 2560
สกู๊ปพิเศษ มิสเตอร์เฮา วรายุภัสร์ (ชื่อเดิม วีรพงษ์) อัสดรธีรยุทธ์ ฉบับ B1264 ประจำวันที่ 24-30 เม.ย. 2560
บางจากฯ ยุค 4.0 เปลี่ยนเป็น "บางจาก คอร์ปอเรชั่น" มุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย
"บิ๊กบอส" ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่อนุมัติให้แก้ไขชื่อบริษัท จาก "บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)" ภาษาอังกฤษ "The Bangchak Petroleum Public Company Limited" เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ ภาษาไทย เป็น "บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" และชื่อภาษาอังกฤษ เป็น "Bangchak Corporation Public Company Limited" โดยได้รับอนุมัติการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ และโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ยังคงเป็นสถานที่เดิม รวมทั้งตราสัญลักษณ์บริษัท (โลโก้) และชื่อย่อหลักทรัพย์ ยังคงใช้เป็น "BCP"
"ปัจจุบัน บางจากฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 32 การเปลื่ยนชื่อบริษัทในครั้งนี้เป็นการปรับภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากไม่เพียงดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเท่านั้น" "บอสชัยวัฒน์" ระบุ และกล่าวเสริมว่าแต่ในอนาคตจะขยายธุรกิจออกไปครอบคลุมทั้งธุรกิจต่อเนื่อง และธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจหลักที่มีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขั้นสูง โดยบริษัทฯ มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Bangchak Initiative Innovation Center : BIIC ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาปี 2560 กว่า 300 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจชีวภาพ ธุรกิจสีเขียว ซึ่งจะขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจยุค 4.0 โดยมุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย
"บิ๊กชัยวัฒน์" เผยต่อว่าทั้งนี้ บริษัทฯ จะขยายธุรกิจชีวภาพ (BIO Product) และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่ประกอบด้วยการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และเหมืองลิเธียม ให้เป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มเติมในการเติบโตของบางจากฯ สู่การเป็นบริษัทชั้นนำ จากเดิมที่มีกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น กลุ่มธุรกิจตลาด และกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ บริหารโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทบางจากฯ ที่มีการลงทุนในประเทศไทย ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์
สำหรับเป้าหมายการสร้างรายได้นั้น "บิ๊กซีอีโอและเอ็มดีฯ" ชัยวัฒน์ ระบุและคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ของธุรกิจชีวภาพ และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ขยายตัวร้อยละ 20 ต่อปี การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้จำเป็นต้องหาธุรกิจที่สร้างรายได้ เพื่อให้มีความเติบโตตามแผน ซึ่งจะมาจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ต่อยอดจากการผลิตไบโอดีเซล และเอทานอลในปัจจุบัน และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
"ปัจจุบันเราได้พัฒนานวัตกรรมต่อยอดธุรกิจไบโอฟูเอล และไบโอดีเซล บี 100 ในโครงการผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หรือผลิตภัณฑ์ PCM ซึ่งเป็นสารส่วนประกอบของฉนวนเก็บความร้อนที่จะคลายความร้อนในช่วงเย็นถึงกลางคืนแต่จะถนอมความร้อนในช่วงกลางวัน สำหรับขายในประเทศที่มีอากาศหนาว มีเป้าหมายเน้นผลิตเพื่อขายในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเป็นโครงการนำร่องเพื่อขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งมีแผนจะตั้งโรงงานผลิต PCM เชิงพาณิชย์ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อต่อยอดการลงทุน ซึ่งบางจากฯ มีพื้นที่อยู่ประมาณ 500 ไร่ โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสนับสนุนภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาสาหร่าย เพื่อผลิตเป็นส่วนประกอบของอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ยาด้วยที่สามารถรองรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ (Biotech)" "เอ็มดีฯ ชัยวัฒน์" ย้ำ
"บอสชัยวัฒน์" กล่าวทิ้งท้ายว่านอกจากนี้ บางจาก คอร์ปอเรชั่น จะขยายธุรกิจ Energy Storage นำแร่ลิเธียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับการกักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งไฟฟ้าขาย โดยจะทยอยเข้าไปซื้อหุ้นในเหมืองแร่ลิเธียมของบริษัท Lithium Americas Corp. หรือ LAC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่ดำเนินโครงการเหมืองลิเธียมในประเทศอาร์เจนตินา และประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 16.4 โดยจะพิจารณาการเข้าซื้อเพิ่มหลังจากที่เหมืองแร่ลิเธียมทำการผลิตในช่วงปี 2562 แล้ว ด้วยกำลังผลิต 25,000 ตันต่อปีในระยะแรก เนื่องจากสร้างผลตอบแทนค่อนข้างดี เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อตัน แต่มีราคาขายอยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัน โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน