ผลงานบางจากฯ ไตรมาส 2 มาแรง มุ่งขยายธุรกิจ พร้อมรับผิดชอบต่อสังคม

ผลงานบางจากฯ ไตรมาส 2 มาแรง มุ่งขยายธุรกิจ พร้อมรับผิดชอบต่อสังคม

bangchak100859

"เอ็มดีฯ ชัยวัฒน์" ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

bangchak100859 3

ผลดำเนินงานบางจากฯ ในไตรมาส 2 กลับมาโดดเด่น กลั่นน้ำมันได้เต็มกำลังการผลิต ด้านการตลาด ขยายปั๊ม จำหน่ายได้มากขึ้น มีรายได้ 37,262 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,415 ล้านบาท เดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง

bangchak100859 4

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ว่าบริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 37,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 4,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 242 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี และมีกำไรสุทธิ 2,415 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิในส่วนของบริษัทใหญ่ 2,417 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.76 บาท หากรวมผลดำเนินงาน 6 เดือน มีกำไร 2,464 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.79 บาท

bangchak100859 5

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในไตรมาสนี้ โรงกลั่นบางจากได้กลับมาใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่ และสามารถกลั่นได้ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยในระดับ 112,000 บาร์เรลต่อวัน มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 6.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งการที่กลั่นได้ในระดับสูงเนื่องจากมีการวางแผนการผลิตและการบริหารจัดการโลจิสติกส์การกลั่นเพื่อรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีโครงการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพโรงกลั่น

ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2559 อยู่ที่ 30.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในไตรมาสที่ 2 เพิ่มเป็น 43.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากแรงหนุนของกำลังการผลิตน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมี EBITDA 2,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 493 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ด้านธุรกิจการตลาด มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวม 1,450 ล้านลิตร ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของตลาดค้าปลีกและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยบริษัท บางจากฯ ยังคงขยายการลงทุนขยายสถานีบริการขนาดใหญ่พร้อมปรับปรุงภาพลักษณ์ของสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ปัจจุบันบริษัท บางจากฯ ยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 โดยปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้น รวม 1,075 แห่ง และมี EBITDA รวม 882 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน

ในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ปัจจุบันบริหารโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบางจากฯ มีรายได้จากการปรับโครงสร้างและการนำเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ลดลงเล็กน้อยจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ มี EBITDA รวม 525 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายครั้งเดียว

สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากค่าความเข้มแสงที่สูงขึ้นเมื่อพ้นช่วงฤดูหนาว บีซีพีจีฯ ได้รับการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการให้ได้รับสิทธิในการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับภาคสหกรณ์การเกษตร จำนวน 3 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปีนี้

ด้านธุรกิจไบโอฟูเอล มีอัตราการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 387,000 ลิตรต่อวัน มี EBITDA รวม 113 ล้านบาท และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีปริมาณการจำหน่ายรวม 393,375 บาร์เรล มี EBITDA รวม 59 ล้านบาท และบริษัท บางจากฯ ได้จัดตั้งบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้า ได้แก่ บริษัท บางจาก ไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด เพื่อลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล โดยจะเข้าซื้อและบริหารโครงการเอทานอล ขนาด 150,000 ลิตรต่อวัน ในเดือนสิงหาคมนี้

อนึ่ง บริษัท บางจากฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับชุมชนรอบโรงกลั่นที่เป็นสังคมใกล้ โดยจัดให้มีโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ที่ดีของชุมชน การศึกษา ดนตรีและกีฬา เศรษฐกิจชุมชน สาธารณประโยชน์ สิ่งแวดล้อม และด้านความปลอดภัย ส่งเสริมให้เยาวชนในระดับมัธยมต้นได้เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเรียนรู้สู้ภัยพิบัติ และการดำรงชีวิตโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เป็นต้น จนได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และความผูกพันจากชุมชน ร้อยละ 83 จากผลการสำรวจของคณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์