ครั้งแรก "นิด้าโพล" ร่วม "เครดิตบูโร" เผยผลสำรวจ "พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560"

ครั้งแรก "นิด้าโพล" ร่วม "เครดิตบูโร" เผยผลสำรวจ

"พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560"

Cr170760

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ร่วมจัดงานแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในครึ่งปีแรก 2560" และเสวนา เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของคนไทย”

ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน จากนิด้า ได้แก่ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ผศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ และผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ร่วมในงานแถลงข่าวผลสำรวจและเสวนาดังกล่าว

ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้มีโอกาสร่วมมือกับ เครดิตบูโร เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ การเงิน การบริหารจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน ตลอดจนการวางแผนการออม โดยการสำรวจความคิดเห็น เป็นหนึ่งในภารกิจของ นิด้าโพล ที่ต้องการสนับสนุนการบริการทางวิชาการ ในรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ หรือการทำโพล เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการต่อสาธารณะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม การวิจัย และงานวิชาการอื่นๆ รวมถึงประเทศชาติต่อไป โดยหวังว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หน่วยงาน สถาบันการเงิน หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การวางแผน หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560” จากประชาชนที่มีรายได้ทั่วประเทศ จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.15 มีรายได้ พอๆ กับรายจ่าย โดยประชาชนมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 26,469.91 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,606.75 บาท ทั้งนี้ ประชาชนเกินครึ่งเล็กน้อย หรือร้อยละ 51.65 มีเงินออมไว้ใช้ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.79 ออมเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ร้อยละ 38.33 ออมเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต ร้อยละ 26.91 ออมไว้ให้บุตรหลานตลอดจนการศึกษาของบุตรหลาน ร้อยละ 12.58 ออมใช้ในระยะยาวช่วงหลังเกษียณอายุ

ส่วนการมีหนี้สินของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.10 ระบุว่ามีหนี้สิน ซึ่งในจำนวนนี้ มีหนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท ร้อยละ 59.47 เกิดจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมาร้อยละ 35.46 เกิดจากการลงทุนในการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจ กิจการ การเกษตร การค้าขาย ร้อยละ 14.24 เกิดจากการเลี้ยงดูบุตรหลาน ร้อยละ 11.89 เกิดจากการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 6.17 เกิดจากการสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโด ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ

สำหรับวิธีการบริหารจัดการหนี้สินของประชาชนที่มีหนี้สิน พบว่า ผู้ที่มีหนี้สินนั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.01 จะชำระยอดค้างให้ตรงต่อเวลา ร้อยละ 19.46 ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติม ร้อยละ 14.17 ลดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 13.29 หาช่องทางการเพิ่มรายได้ เช่น ทำอาชีพเสริม หารายได้พิเศษ ทำงานล่วงเวลา ร้อยละ 10.50 ระบุว่า เลือกแบ่งงวดจ่ายให้มากครั้ง แต่จ่ายจำนวนเงินต่อครั้งให้น้อยๆ ขณะที่ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้สินเฉลี่ย 7.72 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10) ซึ่งอยู่ในระดับมาก

นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนา เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของคนไทย” โดยได้รับเกียรติจากนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า และ ผศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ และผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ นิด้า ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงวิชาการ เป็นการให้ความรู้แบ่งปันประสบการณ์ เกี่ยวกับผลการสำรวจ ปัญหาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ตลอดจนแนวนโยบายในการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย

ในการนี้ นายสุรพล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเครดิตบูโรได้ร่วมสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์แก่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” นับว่าเป็นความร่วมมือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งแรกเพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน การออม การใช้จ่าย ซึ่งผลสำรวจในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยในปัจจุบันได้ เป็นอย่างดี และผลที่ได้จะช่วยต่อยอดวิเคราะห์เรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม ภาวะหนี้สิน การใช้จ่าย และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การป้องกัน แก้ไขปัญหาหนี้ของคนไทยได้อย่างทันการณ์ต่อไป โดยเครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาหนี้ คือ ให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างพฤติกรรมและวินัยทางการเงินที่ดี ผ่านเว็บไซต์ “มันหนี้” หรือ “Thai Debt Money” แก่กลุ่มผู้มีภาวะหนี้สินและประชาชนทั่วไป ถือว่าสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินในระดับภูมิภาคของรัฐบาลอีกด้วย