9 เดือนแรก บางจากฯ มีรายได้ 1.2 แสนล้าน นำนวัตกรรมขยายฐาน 3 ธุรกิจพลังงานสะอาด

9 เดือนแรก บางจากฯ มีรายได้ 1.2 แสนล้าน นำนวัตกรรมขยายฐาน 3 ธุรกิจพลังงานสะอาด

BC180860 2

ผลการดำเนินงานบางจากฯ 9 เดือน ปี 2560 ดีขึ้นจากปีก่อน ลุยขยายธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ซื้อหุ้นลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ แต่งตัวบีบีจีไอพร้อมจดทะเบียนปลายปี 61 พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร “ข้าวกล้องป๊อป” ผ่านบริษัท ออมสุข ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน และทำโครงการนำร่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานบางจากฯ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2560 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 125,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 4,838 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.19 บาท

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2560 บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 39,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 1,495 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) รวม 3,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.96 บาท

Bangchak031159 2

ด้านธุรกิจโรงกลั่น มีกำลังการผลิตเฉลี่ยในระดับสูงที่ 110,030 บาร์เรลต่อวัน และมีค่าการกลั่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มี EBITDA 2,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 140 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนความคืบหน้าของการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นน้ำมันบางจากและการก่อสร้างหน่วยเพิ่มออกเทนเพื่อผลิตน้ำมันแก๊สโซลีน รวมทั้งโครงการปรับปรุงสเถียรภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย กำลังการผลิตและการดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผน

ธุรกิจการตลาด มีปริมาณจำหน่าย 1,417 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ฤดูมรสุม มีฝนและเกิดปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกลดลงเล็กน้อย เนื่องจากประชาชนเดินทางลดลง แต่ยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของสถานีบริการ และรักษาอันดับที่ 2 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี EBITDA 474 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าภายใต้บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อยของบริษัท บางจากฯ มีรายได้ 854 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีปริมาณจำหน่ายไฟฟ้ารวม 78.16 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 160 เมกะวัตต์ แต่ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้ค่าความเข้มแสงเฉลี่ยของทุกโครงการที่ปรับลดลง มี EBITDA 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นอกจากนี้ บริษัท บีซีพีจีฯ ได้ดำเนินการชำระค่าหุ้นเป็นจำนวนเงิน 355.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 11,956.43 ล้านบาท และได้รับโอนหุ้นของ Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) ในประเทศอินโดนีเซีย

ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีรายได้ 1,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทั้งธุรกิจไบโอดีเซลและธุรกิจเชื้อเพลิงเอทานอล โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจไบโอดีเซล 1,653 ล้านบาท คิดเป็น EBITDA 68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 212 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 713 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และรายได้จากธุรกิจเชื้อเพลิงเอทานอล 279 ล้านบาท มี EBITDA 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเป็น 11.1 ล้านลิตรในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 129,000 ลิตรต่อวัน คิดเป็นอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่ร้อยละ 86

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงธุรกิจ Lithium Americas Corp. หรือ LAC ที่บริษัท บางจากฯ ถือหุ้นจำนวน 70,286,757 หุ้นว่า ในไตรมาส 3 นี้มูลค่าหุ้นของ LAC ได้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากลิเทียมเป็นที่ต้องการของธุรกิจพลังงานและธุรกิจยานยนต์ประเภทรถไฟฟ้า ในขณะที่กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนบริษัท บีบีจีไอ จำกัด ที่เกิดจากการควบรวมบริษัท ระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท บางจากฯ และบริษัท เคเอส แอล จีไอ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปลายปี 2561

และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีรายได้จากการขาย 336 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีปริมาณการจำหน่ายรวม 203,807 บาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาขายเฉลี่ยในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง เฉพาะแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Galoc มีกำลังการผลิตเฉลี่ย 3,858 บาร์เรลต่อวัน ปรับลดลงตาม Natural-Decline Production Curve รวมทั้งบริษัท NIDO มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมี EBITDA 44 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัท บางจากฯ ยังคงให้ความสำคัญของการสร้างคุณค่า ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องโดยนำนวัตกรรมมาขยายผล สร้างมูลค่าให้กับสินค้าวิสาหกิจชุมชน โดยบริษัท ออมสุข จำกัด นำข้าวอินทรีย์จากชาวนาในโครงการพุทธเศรษฐศาสตร์มาผลิตเป็นข้าวกล้องป๊อป เพื่อสมนาคุณแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ตั้งแต่วันที่ 1-25 ธันวาคม 2560 หรือจนกว่าของจะหมด และจะนำไปจำหน่ายในร้าน SPAR Supermarket ร้านกาแฟอินทนิลทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนจัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม และสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์