ฟอร์ดเผยโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะและระบบคลาวด์
- รายละเอียด
- เขียนโดย BCCChannel.net
- เผยแพร่เมื่อ: วันพฤหัสบดี, 29 ตุลาคม 2558 17:38
ฟอร์ดเผยโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะและระบบคลาวด์
มอสโก, 29 ตุลาคม 2558 – ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และ มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิครัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg State Polytechnic University) เดินหน้าขั้นตอนสุดท้ายของโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มุ่งพัฒนาความสามารถของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารภายในรถยนต์ ซึ่งฟอร์ดได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีหลายเทคโนโลยีที่มาจากผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ที่เชี่ยวชาญด้านเทเลแมติกส์การสื่อสารหุ่นยนต์อวกาศ
โดยเทคโนโลยีเหล่านั้นจะสามารถช่วยพัฒนาการเชื่อมต่อของยานยนต์ในอนาคตต่อไป
เป้าหมายหลักของโครงการระหว่างฟอร์ดและมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิครัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก คือการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีเสถียรภาพ เพื่อเชื่อมต่อผู้ขับขี่กับระบบบริการคลาวด์ (cloud) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งความท้าทายสำคัญที่ฟอร์ดพยายามแก้ไข คือ การทำให้การสื่อสารระหว่างยานพาหนะและระบบคลาวด์มีความเสถียรแม้ในสภาวะที่สัญญาณเชื่อมต่อไม่ดี หรือมีการใช้ระบบเครือข่ายไร้สายมากเกิน โดยโครงการนี้ใช้ระยะเวลานานสามปี
การทำงานของผลงานต้นแบบ
ข้อมูลต่างๆ จะได้รับการเก็บบันทึกและส่งต่อจากยานพาหนะต้นแบบที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ โดยยานพาหนะต้นแบบนี้มีความสามารถในการเชื่อมต่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมต่อกับคลาวด์ เครือข่ายโทรศัพท์ สัญญาณ Wi-Fi และเชื่อมต่อกับพาหนะอื่นๆ รวมถึงระบบพื้นฐานการขนส่ง โดยทีมวิจัยได้สร้างระบบการจัดการเชื่อมต่ออัจฉริยะที่ใช้ซอฟต์แวร์ และชุดคำสั่งอัลกอริธึม เพื่อเลือกช่องทางการเชื่อมต่อที่ดีที่สุดสำหรับการส่งข้อมูลไปยังคลาวด์ ทั้งนี้ ยานพาหนะแต่ละคันจะสามารถประเมินคุณภาพของช่องทางการสื่อสารและส่งข้อมูลได้อย่างราบรื่น
ทีมนักวิจัยยังได้พัฒนาแผนที่ขนาดเล็กที่ใช้บอกพื้นที่ครอบคลุมการเชื่อมต่อ ที่เก็บรวบรวมลักษณะของภูมิประเทศเอาไว้ และในขณะเดียวกันก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจุดกระจาย และเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์แบบไร้สาย คุณภาพการบริการของช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ต่างๆ รวมถึงปริมาณการใช้สัญญาณเข้าไว้ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมงานได้ศึกษาการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินบนท้องถนนในกรณีที่ผู้ขับขี่อยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณเชื่อมต่อไม่ดีผ่านสถานการณ์จำลอง โดยทีมงานได้ส่งรถยนต์หนึ่งคันเข้าไปในอุโมงค์ที่มีเกล็ดน้ำแข็งบนถนน ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวต้องทำการส่งสัญญาณแจ้งเตือนรถคันอื่นๆ เกี่ยวกับสภาพถนนลื่นในพื้นที่ที่ไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์ ไม่มี Wi-Fi และได้ส่งรถคันที่สองที่ขับสวนทางได้รับการติดตั้งทั้งระบบการเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะ และมีเครือข่ายโทรศัพท์
ระบบจัดการการเชื่อมต่ออัจฉริยะนี้ จะเลือกใช้ช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะจากรถยนต์คันที่สองในการส่งข้อมูลที่ได้จากรถคันแรกไปยังคลาวด์ หลังจากนั้น จึงส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังผู้ขับขี่คนอื่นๆ ว่ามีสถานการณ์เสี่ยงอันตรายบริเวณปากทางเข้าอุโมงค์ หากไม่มีรถคันอื่นอยู่บริเวณนั้น ระบบจัดการการเชื่อมต่ออัจฉริยะจะเลื่อนการส่งข้อความแจ้งเตือนไปจนกว่ารถคันแรกจะออกจากอุโมงค์และเครือข่ายโทรศัพท์สามารถใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับในสถานการณ์ที่ปกติไม่ฉุกเฉิน ระบบจัดการการเชื่อมต่ออัจฉริยะจะตรวจดูพื้นที่สัญญาณเชื่อมต่อ เพื่อเลือกจุดส่งสัญญาณที่ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อรถยนต์ขับไปบริเวณพื้นที่ห่างไกลสัญญาณ แต่ต้องมีการอัพเดตซอฟแวร์ การอัพเดทดังกล่าวจะเริ่มต้นเมื่อรถยนต์มีสัญญาณเชื่อมต่อที่ดีขึ้น
ก้าวต่อไปในอนาคต
ในอนาคต เมื่อมีการเก็บสะสมข้อมูลต่างๆ ในเวลาเดียวกัน จากรถยนต์หลายร้อยคัน แผนที่พื้นที่การเชื่อมต่อ จะสามารถแสดงข้อมูลล่าสุดได้ตลอดเวลา โดยสิ่งนี้จะเป็นเสมือนฐานข้อมูลอัจฉริยะสำหรับการคมนาคมและโครงการจราจรอัจฉริยะต่างๆ ในเมือง ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม ทั้งในขณะที่รถยนต์กำลังขับเคลื่อนหรือจอดนิ่งอยู่กับที่ รถยนต์คันที่มีสัญญาณเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ โมเด็ม สัญญาณ Wi-Fi และสัญญาณอื่นๆ ที่เสถียรที่สุด จะถูกนำมาใช้เป็นแหล่งสำคัญ เพื่อช่วยในการเชื่อมต่อสำหรับการให้บริการสารสนเทศได้อย่างเสถียร ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์การเชื่อมต่อสื่อสารในแวดวงยานยนต์ได้อีกขั้น
โครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยผลการวิจัยที่ได้จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตและพัฒนารถยนต์ฟอร์ด ซึ่งรวมถึงระบบการสื่อสารระหว่างยานพาหนะ การส่งข้อมูลแบบฉุกเฉินเร่งด่วน และการอัพเดทซอฟแวร์ทางอากาศอีกด้วย